Think Again - Adam Grant | Book Review - รีวิวหนังสือ
คนส่วนใหญ่มักมองว่าการคิด (Think) และการเรียนรู้ (Learn) เป็นทักษะที่นำมาสู่ความเฉลียวฉลาด แต่หารู้ไม่ว่าทักษะแห่งการคิดอีกครั้ง (Think Again) และการเลิกรู้ (Unlearn) ก็เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นเฉกเช่นเช่นเดียวกัน ดังที่หนังสือ Think Again ของ Adam Grant พยายามบอกกับผู้อ่าน
วันหนึ่งเรารู้สึกอยากหาหนังสือประเภท non-fiction อ่านสักเล่ม แต่ไม่รู้จะอ่านอะไรดี แล้วสายตาก็ไปเจอกับหนังสือเรื่อง Think Again ของ Adam Grant เข้าบนอินเทอร์เน็ต พออ่านทำความเข้าใจคร่าวๆ แล้วว่าหนังสือเรื่องนี้จะพูดถึงการคิดอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยเกิดความสงสัยว่าอะไรกันที่ทำให้ต้องนำเรื่องนี้มาเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลย เราจึงพุ่งตรงสู่ร้านหนังสือและซื้อมันมาอ่านทันใด
Adam Grant นักจิตวิทยาองค์การและศาสตราจารย์ที่โรงเรียนธุรกิจ Wharton School ผู้เคยฝากผลงานเขียนโด่งดังอย่าง Originals หรือ Give and Take และผลงานเล่มล่าสุดอย่าง Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know ก็กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่เช่นกัน
Think Again เป็นหนังสือที่พูดถึงทักษะการคิดอีกครั้ง และการละทิ้งสิ่งที่เราเคยรู้มาก่อนหน้า เพื่อคิดอีกครั้งให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สำคัญแต่ก็กลับถูกมองข้ามซะเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวทักษะนี้ผ่านการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนและทำการอธิบายออกมา ประกอบการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สอดคล้อง พร้อมข้อมูลภาพประกอบ ซึ่งทำให้ผู้อ่านอย่างเราเข้าใจได้ง่าย สนุก และมีอารมณ์ร่วมที่จะคิดตามไปกับมัน
ผู้เขียนได้อธิบายถึงหลักการคิดอีกครั้งใน 3 แง่ ได้แก่ Individual Rethinking ที่จะทำให้เราเข้าใจการคิดอีกครั้งในระดับปัจเจกบุคคล, Interpersonal Rethinking ที่จะพาผู้อ่านรู้ซึ้งถึงการเข้าหาบุคคลอื่น และ Collective Rethinking เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่ไม่หยุดเรียนรู้
เปิดเล่มมาด้วยเหตุการณ์ของเหล่านักดับเพลิงที่รอดชีวิตจากไฟป่าด้วยการคิดอีกครั้งที่จะยอมละทิ้งเครื่องมือซึ่งแสดงถึงตัวตนของเขาอย่างขวานที่หนักทึ่งและหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ในขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ไป ก็รู้สึกทึ่งกับแนวความคิดนี้ มองภายนอกมันก็ดูเหมือนแค่การกลับไปคิดทบทวนอีกครั้งที่ธรรมดามาก แต่แค่พูดน่ะมันง่าย คิดๆ ดูอีกทีในชีวิตจริงเรากลับแทบไม่ได้ใช้ทักษะนี้กันเลยเสียนี่ เราจะขอหยิบยกบางประเด็นในหนังสือที่น่าสนใจและน่าพูดถึง
Think like a scientist.
ผู้เขียนได้พูดถึงเวลาที่เราคิดหรือพูดสิ่งใดเรามักจะแสดง 3 บุคลิกออกมาได้แก่
1. Preachers หรือนักเทศน์ ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อความคิดของเรากำลังตกอยู่ในอันตราย และเราจะต้องทำการปกป้องชุดความคิดเหล่านั้นไว้
2. Prosecutors หรืออัยการ เป็นบุคลิกที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกขัดแย้งกับชุดความคิดของผู้อื่น และพยายามหาทางทำให้พวกเขาผิดด้วยความคิดที่เราเชื่อว่าถูก
3. Politicians หรือนักการเมือง เราจะเข้าสู่บุคลิกนี้หากเราต้องการการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่
แต่ยังมีอีกบุคลิกหนึ่งที่ผู้เขียนมองว่าเราควรปฏิบัติได้อยู่ตลอดเวลาคือการเป็น Scientists หรือนักวิทยาศาสตร์ บุคลิกซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อเราต้องการพิสูจน์ความจริง โดยการตั้งสมมติฐาน ทดสอบสมมติฐานดังกล่าว และทำซ้ำเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ขนาดเราเรียนสายวิทย์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยแล้ว หลักการคิดแบบนี้เรายังไม่เคยงัดออกมาใช้จริงจังเลย
เหตุการณ์ตัวอย่างที่ผู้เขียนพูดถึงคือเรื่องราวของ Mike Lazaridis ผู้สร้าง BlackBerry โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่บุกเบิกเทคโนโลยีสุดว้าวในการส่งอีเมล์และข้อความผ่านเครื่องมือชิ้นเล็กๆ นี้ แต่กลับต้องสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเขายึดมั่นในชุดความคิดของเขาแบบเดิมๆ
Ask how people originally formed an opinion.
บางทีความคิดเห็น หรือความเชื่อของเราก็เกิดขึ้นมาอย่างผิดๆ ที่ไม่หลักฐานแน่ชัด หรือเกิดจากอคติส่วนตัวที่หาเหตุผลมาสนับสนุนไม่ได้ อย่างที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ของแฟนกีฬาตัวยงของทีมใดทีมหนึ่ง ซึ่งมักจะมาควบคู่กับความคิดที่เกลียดชังทีมกีฬาฝ่ายตรงข้ามเข้าไส้ ถึงขั้นเกิดชุดความคิด ความเชื่อแง่ลบผิดๆ ต่อแฟนกีฬาทีมตรงข้าม
หรือเหตุการณ์ของการเหยียดสีผิว และเชื้อชาติ ที่ผู้เหยียดอาจจะได้รับข้อมูล และความเชื่อถ่ายทอดต่อกันมาโดยขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และก่อให้เกิดอคติที่สร้างความร้าวฉานกันเสียนี่
เราอาจจะต้องช่วยให้เขาหยุด และคิดไตร่ตรองอีกครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์กันใหม่ และตั้งคำถามให้เขาได้คิดว่าหากเขาได้เกิดมาในช่วงเวลาอื่น สถานที่อื่น หรือเกิดเป็นคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เขาตอนนี้ เขาจะเกิดความคิดที่แตกต่างไปจากปัจจุบันหรือไม่
Invite kids to do multiple drafts and seek feedback from others.
การสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ควรมาจากการปรับปรุงแก้ไขหลายๆ ครั้ง พร้อมกับรับข้อคิดเห็นจากผู้อื่นเพื่อการพัฒนา การที่เราทบทวนแก้ไข ปรับปรุงผลงานเป็นทักษะการคิดอีกครั้งที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องกดดันจากความคาดหวังให้ความพยายามในครั้งแรกต้องออกมาสมบูรณ์แบบ
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ของนักเรียนเกรดหนึ่งวัยหกขวบที่ได้รับมอบหมายให้วาดรูปผีเสื้อ จากแบบร่างแรก และร่างต่อๆ มาที่ถูกพัฒนาตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมห้อง จนออกมาเป็นผลงานสุดท้ายที่น่าทึ่งไปตามๆ กัน
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ชวนให้เราคิดตามในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นใจที่ถ่อมตน (Confident humility) การโน้มน้าวผู้อื่น การรับมือกับความขัดแย้ง การสร้างองค์กรเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการวางแผนชีวิต ซึ่งเราสามารถลองนำหลักการคิดอีกครั้ง ไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ทิ้งท้ายว่าเราอยากจะชวนให้ทุกคนได้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู เชื่อว่าหลังจากได้อ่านแล้วจะเข้าใจทักษะการคิดอีกครั้งมากขึ้นและจุดประกายให้ลองใช้ทักษะนี้อย่างแน่นอน
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ: Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know
ผู้แต่ง: Adam Grant
Format: Paperback
สำนักพิมพ์: Viking Press
ISBN: 9780593298749
สั่งซื้อหนังสือ: Kinokuniya
"A hallmark of wisdom is knowing when it's time to abandon some of your most treasured tools—and some of the most cherished parts of your identity." - Adam Grant, Think Again
------------------------------------------------
หากได้อ่านเรื่องนี้แล้ว คิดเห็นยังไงกันบ้าง? มาแชร์กันได้เลย :)
✿
✿
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น